บทความให้กำลังใจ(ปกครองโดยไม่ปกครอง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ยาตราบนทางธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    ธงธรรมจักร ธงชาติ และธงหลากสีโบกสะบัดขณะที่ขบวนธรรมยาตราค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากเมืองชัยภูมิท่ามกลางแดดที่แผดเผา กว่า ๒๐๐ ชีวิตทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งนำโดยพระสงฆ์มุ่งหน้าสู่ภูแลนคาซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ไกลลิบ โดยมีจุดหมายที่วัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เกือบสุดปลายอีกด้านหนึ่งของภูดังกล่าว

    เป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วที่ขบวนธรรมยาตรารอนแรมไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ครั้งละ ๗-๘ วันเพื่อเชิญชวนและให้กำลังใจผู้คนในการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งกำลังเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว เขาเหล่านี้เลือกที่จะเดินแทนการนั่งรถ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจมั่นและพร้อมจะลำบากเพื่อเป็นปากเสียงให้แก่ป่าเขาลำเนาไพร ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัวตามประเพณีจาริกบุญที่มีมาแต่โบราณ ทุกคนได้รับการเชิญชวนให้เดินอย่างสงบ สำรวมกายวาจา และมีสติในทุกขณะที่ก้าวเดิน แม้แดดร้อนแรงหรือทางไกลเพียงใด ก็รักษาใจไม่ให้ทุกข์ “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน” “กายร้อน ใจไม่ร้อน” เป็นทั้งคำขวัญและคติเตือนใจผู้เดิน


    ภูหลงคือต้นน้ำลำปะทาวที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนธรรมยาตรามาตั้งแต่ปีแรก บางปี
    ก็เดินตามลำปะทาวลงมาจากเขาจนถึงตัวเมืองชัยภูมิ แต่ปีนี้ขบวนธรรมยาตราตั้งต้นที่นอกเมืองชัยภูมิแล้วเดินขึ้นเขา ซึ่งหมายถึงการเดินทวนกระแสลำปะทาวขึ้นไปจนถึงต้นน้ำ การเดินหันหลังให้เมือง เดินหน้าสู่ภูเขานั้น ยังหมายถึงการหนีห่างจากความสะดวกสบาย และเผชิญความยากลำบากมากขึ้น นอกจากจะต้องเดินสู้แรงดึงดูดของโลกแล้ว ถนนที่เคยเดินสะดวกก็กลายเป็นทุรกันดาร ทั้งแคบทั้งเต็มไปด้วยฝุ่น จุดแวะพักบางแห่งไฟฟ้าก็ไปไม่ถึง ไม่ต้องพูดถึงสัญญาณโทรศัพท์

    แต่ในเวลาเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ทุกคนสังเกตได้ คือทัศนียภาพที่แปรเปลี่ยน ยิ่งเดินห่างเมือง ต้นไม้สองข้างทางก็ยิ่งหนาแน่น ขณะที่แท่งคอนกรีตสีเทาทึมบางตา ความเขียวขจีของธรรมชาติก็เด่นชัดขึ้น ในยามค่ำคืนเห็นดวงดาวระยิบระยับชัดเจน ยิ่งขึ้นสูง อากาศก็ยิ่งบริสุทธิ์เย็นสบาย ใช่แต่เท่านั้น น้ำในลำห้วยที่เคยขุ่นคล้ำก็ใสขึ้นด้วย

    เป็นธรรมดาที่การเดินขึ้นเขาย่อมยากกว่าการเดินลงเขา แต่ทัศนียภาพที่งดงามและรื่นรมย์ก็เป็นรางวัลชดเชยความเหนื่อยยาก เย็นวันที่ ๗ ของการเดินทาง ขบวนธรรมยาตรามายืนอยู่บนหน้าผา ถัดจากเวิ้งอากาศเบื้องหน้าคือภูต้นน้ำ ส่วนเบื้องล่างเป็นหุบเขาที่ค่อย ๆ แผ่กว้างกลายเป็นทุ่งราบ ประกอบกันเป็นทัศนียภาพอันกว้างไกล มีแต่ธรรมชาติล้วน ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา จนทุกคนรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในโอบกอดของป่าเขาและพงไพร ขณะที่อาทิตย์ค่อย ๆ ลับเหลี่ยมเขา ความสงบรำงับจากบรรยากาศรอบข้างได้ซึมซับแผ่ซ่านเข้าไปในใจของทุกคนที่กำลังดื่มด่ำอยู่กับธรรมชาติเบื้องหน้า

    ก่อนถึงจุดสุดท้ายของการเดินทาง ขบวนธรรมยาตราได้แบ่งสายลัดเลาะผ่านป่าต้นน้ำ เป็นครั้งแรกที่หลายคนได้มาเห็น “น้ำซับ” หรือแอ่งน้ำเล็ก ๆ มากมาย อันเป็นที่มาของลำปะทาว สายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนบนหลังเขาไปจนถึงชัยภูมิ เห็นได้ชัดว่าน้ำจากป่าบนเขาสูงนั้นใสสะอาด
    ผิดกับน้ำในลำห้วยกลางเมืองอย่างลิบลับ

    ธรรมยาตรามิใช่เป็นแค่การเดินทางผ่านภูมิประเทศนานาชนิดเท่านั้น หากยังเป็นภาพสะท้อนของเดินทางของจิตใจด้วย ต่อเมื่อเดินทวนน้ำ จึงจะเห็นน้ำใส อากาศบริสุทธิ์ ฉันใด ยิ่งทวนกระแสกิเลส จิตใจก็จะยิ่งใสสะอาดฉันนั้น จะว่าไปแล้วการเดินทวนน้ำกับการเดินทวนกระแสกิเลสก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในการเดินทวนน้ำนั้นนอกจากเราต้องออกแรงเดินมากกว่าปกติ เนื่องจากต้องเดินขึ้นที่สูงแล้ว ยังต้องสวนทางกับความสะดวกสบายซึ่งเป็นยอดปรารถนาของกิเลส ยิ่งใกล้ต้นน้ำ ก็ยิ่งห่างไกลจากความเจริญและความสบาย ที่พักซึ่งเคยเป็นอาคารคอนกรีตกว้างใหญ่อย่างในคืนแรก กลับกลายเป็นที่โล่งในคืนต่อ ๆ มา หลายคนต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย อาศัยแสงสว่างจากแสงเทียน แม้มิใช่สิ่งที่ใคร ๆ ปรารถนา แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ฝึกใจให้รู้จักลดละความสะดวกสบายและพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย หลายคนได้พบว่าแม้ลำบากกายแต่ใจก็เป็นสุขได้ เป็นสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุหรือสิ่งเสพ แต่สุขเพราะได้สัมผัสกับมิตรภาพของผู้คน สุขเพราะสามารถทำสิ่งยากให้สำเร็จได้ สุขเพราะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่ร่มรื่นและจากใจที่สงบเย็น

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    ยิ่งปล่อยใจไปตามกิเลสมากเท่าไหร่ ชีวิตก็ยิ่งตกต่ำ หาความสุขได้ยาก จิตใจเศร้าหมองได้ง่ายเพราะถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัว ความโลภ รวมทั้งรุ่มร้อนเพราะความอิจฉาและความโกรธเมื่อไม่สมอยาก แม้จะมีวัตถุมากมายแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งทำให้ “สุขยาก และทุกข์ง่าย” ต่อเมื่อเอาชนะหรือรู้เท่าทันกิเลส ไม่หลุดลอยไปตามอำนาจของมัน จิตจะเป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่หลงใหลติดยึดในวัตถุหรือความสะดวกสบาย อะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหวง่าย พอใจกับชีวิตที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวยในความดี ดังนั้นจึง “สุขง่าย และทุกข์ยาก”

    การเดินทวนน้ำไม่เพียงพาเราไปพบกับน้ำใส อากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ในที่สุดยังนำเรามาถึงเขาสูง ได้เห็นทัศนียภาพอันกว้างไกลทั้งเบื้องล่างและเบื้องบน ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งเบาสบาย ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเดินทวนกระแสกิเลสมากเท่าไร ใจก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น ไม่เพียงรู้สึกโปร่งเบาเพราะปล่อยวางความอยากและอารมณ์อกุศลเท่านั้น หากยังสามารถมองเห็นโลกและชีวิตได้อย่างกว้างไกล ไม่มองอะไรสั้น ๆ แคบ ๆ เพราะถูกตีกรอบด้วยความเห็นแก่ตัวหรืออคติทั้งปวง

    ธรรมยาตราที่แท้จริงจึงเป็นมากกว่าการรณรงค์เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติเท่านั้น หากยังเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อฟื้นฟูใจด้วย เป็นมากกว่าการพาตัวให้ถึงที่หมายเท่านั้น หากยังเป็นการพาใจให้ถึงธรรมด้วย จะว่าไปแล้วธรรมยาตรามิใช่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันมาเดินกลางแดดปีละครั้งหรือนาน ๆ ครั้งเท่านั้น หากธรรมยาตรายังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนด้วย

    ใช่หรือไม่ว่าชีวิตของเราทุกขณะเปรียบเสมือนการเดินทาง เราแต่ละคนต้องเลือกเส้นทางของตัวเอง จริงอยู่บางครั้งเราถูกผลักดันให้ต้องเลือกเส้นทางที่ไม่ได้ใฝ่ฝันหรือปรารถนา แม้กระนั้นเราก็ยังสามารถทำให้การเดินทางของเราเป็นเสมือนธรรมยาตรา นั่นคือเดินทางมิใช่เพื่อจุดหมายปลายทางที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการงานและการเงินที่มั่นคง มีสถานะหรือตำแหน่งที่สูงเด่น มีชื่อเสียงเกียรติยศที่ขจรขจาย ฯลฯ แต่เพื่อความเปลี่ยนแปลงภายใน นั่นคือการขัดเกลาจิตใจให้สะอาด หรือยกใจให้สูงขึ้น โดยพร้อมที่จะทวนกระแสกิเลส แม้ต้องประสบกับความยากลำบาก ไม่สะดวกสบาย แต่ก็มีความสุขใจเป็นรางวัล อย่าลืมว่า ที่สุดของการเดินทวนน้ำคือต้นน้ำที่ใสสะอาดและฉ่ำเย็นฉันใด ที่สุดของการทวนกระแสกิเลส คือต้นธารแห่งความสุขที่หล่อเลี้ยงใจให้สงบเย็นฉันนั้น แต่แม้จะยังไม่ถึงต้นน้ำ ธารใสระหว่างทางก็สามารถดับกระหาย ระงับความรุ่มร้อน หรือชำระใจให้สะอาดได้

    ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด มีอาชีพอะไร ก็สามารถทำให้ชีวิตของเราดำเนินบนเส้นทางธรรมได้ นั่นคือมีธรรมเป็นจุดหมาย ขณะเดียวกันก็มีธรรมเป็นมรรควิธี กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “เพื่อธรรมและโดยธรรม” ธรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน การมีธรรมเป็นจุดหมายก็คือการบรรลุถึงประโยชน์ตนและถึงพร้อมด้วยประโยชน์ท่าน จะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ มีเมตตากรุณา มีความพากเพียร รู้จักอดกลั้น และหมั่นไตร่ตรองด้วยปัญญา การดำเนินชีวิตด้วยธรรม ย่อมช่วยให้มีพลังในการก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง ไม่พ่ายแพ้ต่อความทุรกันดารที่พานพบ ไม่ระย่อต่อความยากลำบากที่ขวางกั้น สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือพบสุขท่ามกลางความทุกข์ได้

    ปีแล้วปีเล่าที่คนกลุ่มหนึ่งได้พร้อมใจกันเดินฝ่าแดดแผดเผา พาตัวมาพบกับความยากลำบากนานาชนิด โดยไม่กลัวความร้อนและความเหนื่อยยาก เพราะรู้ดีว่า “ร้อนแต่กาย ใจสงบเย็น” หรือ “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน”นั้นเป็นสิ่งทุกคนสามารถทำได้ แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมาเจอกับความยากลำบากด้วยตัวเอง สติระหว่างที่ก้าวเดินสามารถยกใจให้อยู่เหนือความทุกข์ และพบกับความเบิกบานสงบเย็นได้ท่ามกลางไอแดดที่ร้อนระอุ

    เมื่อมีธรรมย่อมไม่กลัวความยากลำบาก ซ้ำยังแปรเปลี่ยนอุปสรรคให้กลายเป็นของดีที่มีคุณประโยชน์ต่อจิตใจ แม้มีทุกข์มากระทบก็ไม่กระเทือนถึงใจ พรหรือสิ่งประเสริฐที่แท้จริงจึงมิใช่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และธนะ แต่อยู่ที่ธรรมต่างหาก เพราะเมื่อดำเนินชีวิตเพื่อธรรม และโดยธรรมแล้ว ย่อมอยู่ในอารักขาของธรรมอย่างแน่นอน

    ปีใหม่นี้แทนที่จะเรียกหาแต่อายุ วรรณะ สุขะ พละ และธนะ ไม่ดีกว่าหรือที่จะแสวงหาธรรมเพื่อนำมากำกับชีวิต หรือตั้งจิตมั่นที่จะยาตราบนทางธรรมโดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งปวงที่รออยู่ข้างหน้า
    :- https://visalo.org/article/matichon255312.htm

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 กรกฎาคม 2025 at 23:22
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    เติบโตไปด้วยกัน
    By : สามสลึง

    ใกล้ถึงวันปีใหม่ ครูได้ถามนักเรียนชั้นป.๔ ว่า “เรามาช่วยกันเขียนบัตรอวยพรปีใหม่ให้แก่คนที่ว้าเหว่ไร้ญาติขาดมิตรกันดีไหม ?”

    “ดีครับ” “ดีค่ะ” นักเรียนตอบอย่างพร้อมเพรียง

    ครูจึงถามต่อว่า “แล้วถ้าจะส่งการ์ดให้คนที่เราไม่ชอบหน้าเลยล่ะ นักเรียนคิดว่าดีไหม?”

    นักเรียนทำหน้าครุ่นคิด บางคนก็อึกอัก สักพักนักเรียนหญิงคนหนึ่งก็เดินตรงมาหาครู พร้อมกับยื่นซองให้ครู แล้วพูดว่า “สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะคุณครู”

    การสอนให้เด็กเป็นคนดีนั้น บางครั้งอาจส่งผลที่ไม่พึงปรารถนากลับมาที่ผู้สอน พ่อแม่ที่สอนให้ลูกไม่พูดปด อาจจะถูกลูกท้วงติงว่า ทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงพูดปดกับหนูล่ะคะ เช่นเดียวกับคุณครูในเรื่องข้างบน ที่ค้นพบความจริงอันไม่โสภาจากเด็กน้อยที่เชื่อฟังคำสอนของคุณครู ถ้าเด็กหญิงไม่เห็นด้วยกับการส่งการ์ดให้คนที่ตนไม่ชอบหน้า คุณครูก็คงไม่รู้ว่าตนเองนั่นแหละคือคนที่นักเรียนทั้งห้องไม่ชอบหน้า

    แต่คุณครูที่แท้ย่อมไม่เสียใจเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว เพราะนั่นเป็นผลมาจากความเติบโตทางสติปัญญาของเด็ก ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของคุณครู คุณพ่อคุณแม่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรโกรธลูกเวลาถูกท้วงติง เป็นเพราะลูกเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ว่าการพูดปดไม่ดี เขาจึงทักท้วงคุณพ่อคุณแม่เช่นนั้น

    เด็กที่เติบโตในทางสติปัญญาและคุณธรรม ย่อมกล้าพูดและกล้าทำสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นความดี คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรสนับสนุนให้เด็กทำเช่นนั้นต่อไป ไม่ควรโกรธหรือขุ่นเคืองเพียงเพราะว่าการกระทำเช่นนั้นมากระทบกับอัตตาของตนหรือทำให้เสียหน้า ควรมองว่าเป็นเรื่องดีที่ตนเองจะได้ปรับปรุงตัวเองไปด้วย การเติบโตที่พึงประสงค์นั้นควรเป็นการเติบโตไปด้วยกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูก ๆ ทั้งคุณครูและนักเรียน ไม่ควรคิดว่า การเติบโตเป็นเรื่องของเด็ก ๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ต้องการการเติบโตด้วยเช่นกัน ก็การศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดชีวิตมิใช่หรือ

    เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรดีใจเมื่อประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ เด็กได้พูดความจริงกับเรา เป็นความจริงที่ออกมาจากความซื่อบริสุทธิ์และความปรารถนาดีของเด็ก ความจริงนั้นอาจฟังดูไม่ไพเราะ แต่ก็ไม่ก่อผลเสียแก่เรามากเท่าไร และหากรู้จักใช้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่เรามหาศาล ตรงกันข้ามคำโกหกนั้นแม้จะน่าฟังและชวนเคลิ้ม แต่นั่นก็เพราะมันถูกกับกิเลสของเรา และเมื่อใดก็ตามที่กิเลสถูกพะนอจนฟูฟุ้ง สติปัญญาก็มักจะถดถอย สิ่งที่ตามมาก็คือความพลั้งพลาดเสียทีจนเกิดผลร้ายในที่สุด ขอเชิญสดับนิทานสอนใจต่อไปนี้

    สามีภรรยาออกมาเล่นกอล์ฟในสนามที่รายล้อมด้วยคฤหาสน์ราคานับสิบล้าน คราวหนึ่งสามีหวดลูกกอล์ฟแรงเกินไป ลูกวิ่งไปชนหน้าต่างคฤหาสน์หลังหนึ่งเสียงดังเพล้ง ๆ ๆตามมาเป็นระลอก ทั้งสองเดินเข้าไปในคฤหาสน์ด้วยความประหวั่น เห็นเศษกระจกและเศษแก้วแตกกระจายอยู่เต็ม คำนวณค่าเสียหายแล้วคงมากโขอยู่

    แล้วทั้งสองก็เจอเจ้าของบ้านซึ่งยืนยิ้มอยู่ พร้อมกับพูดว่า “ขอบใจนะที่ช่วยทำขวดแก้วแตกจนฉันออกมาได้ ยักษ์อย่างฉันอยากตอบแทน ขออะไรก็ได้ ๒ อย่าง ฉันขอเพียงอย่างเดียวจากท่าน”

    “ตกลง ผมขอเดือนละล้าน” สามีว่า

    “ความปรารถนาของท่านจะเป็นจริง” ยักษ์ตอบ

    “ฉันขอแมนชั่นในทุกประเทศ” ภรรยาบอก

    “ความปรารถนาของท่านจะเป็นจริง” ยักษ์ตอบ

    “แล้วท่านจะขออะไรล่ะ” สามีถาม

    “ฉันขอนอนกับภรรยาของท่าน” เป็นคำตอบจากยักษ์

    สามีภรรยาหารือกันสักพัก ก็ตกลงเพราะดีใจที่ได้ทั้งเงินและแมนชั่น แล้วสามีก็ทิ้งภรรยาไว้กับยักษ์
    หลายชั่วโมงผ่านไป เมื่อยักษ์สมปรารถนาแล้ว ก็ถามภรรยาว่า
    “สามีคุณอายุเท่าไหร่ ?”
    “๓๘ ปี” ภรรยายตอบ
    “คนอะไร อายุเกือบ ๔๐ แล้วยังงมงาย เชื่อนิทานเรื่องยักษ์ในขวดอยู่ได้”
    :- https://visalo.org/article/sarakan254708.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    dhammakangT.jpg
    ธรรมะข้างเตียง
    พระไพศาล วิสาโล

    (เทศนาธรรมของพระไพศาล วิสาโล
    มอบต่อคุณแม่ถ่องสี แซ่ลุ่ย
    ณ ห้อง ๒๐๘ ตึกอายุรกรรม
    โรงพยาบาลราชวิถี
    ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔)
    โยมแม่ อาตมาพระเตี้ยมาเยี่ยมนะ จำได้หรือเปล่า เป็นเพื่อนสง่า ตอนอาตมายังไม่บวชเคยมาเยี่ยมที่บ้านอยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ทำงานแล้วก็ยังมาเที่ยวที่บ้านหลายครั้ง โยมแม่คงจำได้ เพราะว่าพอบวชแล้วก็ยังได้เจอโยมแม่ที่วัดทองนพคุณ งานทำบุญวันที่สง่ากับสมถวิลแต่งงานกัน หลังจากนั้นก็ไม่ได้เจอโยมแม่อีกเลย แต่ก็ฟังข่าวคราวจากสง่าอยู่เสมอ

    ตอนนี้โยมแม่อายุ ๙๖ แล้ว ถือว่ามีอายุยืนมาก โยมแม่ได้มีโอกาสเห็นความสำเร็จที่ตัวเองได้เพียรพยายามเลี้ยงดูลูกมาด้วยความอดทน ด้วยความเสียสละ ด้วยความรัก แม้ว่าจะลำบากอย่างไรก็ไม่ยอมแพ้ อดทน ทำทุกอย่างเพื่อลูก ไม่ใช่แค่แรงกายเท่านั้น แรงใจก็ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ มีวิชาความรู้ และมีที่พึ่งทางจิตใจ จนกระทั่งลูกโตมีอาชีพการงานที่ดี มีครอบครัว มีฐานะการเงินที่มั่นคง แล้วยังมีหลานให้โยมแม่ได้ชื่นชม หลายคนไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นความสำเร็จที่ตัวเองได้อดทนเสียสละ แต่ว่าโยมแม่ได้เห็น เพราะว่ามีอายุยืนมาจนทุกวันนี้
    ถึงแม้ว่าตอนนี้โยมแม่จะเจ็บป่วย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ว่าคงรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัว วันนี้มีลูกมีหลานมาเยี่ยมมากมาย หลานๆ หลายคนเรียนจบแล้ว บางคนก็ทำงานแล้ว มีอาชีพที่มั่นคงมีอนาคต ขอให้โยมแม่รับรู้และชื่นชมสิ่งที่เป็นผลแห่งความเพียรของตัวเองด้วย

    อยู่อย่างนี้ไม่รู้สึกอึดอัดก็ได้นะ เพราะถึงแม้ร่างกายจะไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ แต่ว่าใจเรายังสามารถที่จะทำอะไรดีๆ ได้ เช่น นึกถึงความสำเร็จของลูกของหลาน ชื่นชมความสำเร็จของเขา รวมทั้งถือว่าตอนนี้เป็นโอกาสให้ลูกหลานได้ดูแลโยมแม่บ้าง โยมแม่เสียสละเพื่อลูกเพื่อหลานมาเยอะแล้ว เสียสละเพื่อคนอื่นมาเยอะแล้ว ตอนนี้ก็ให้คนอื่นเขาได้ดูแลโยมแม่บ้าง อย่าไปคิดว่าเรามาอยู่แบบนี้เป็นภาระของคนอื่นเขา ที่จริงตอนนี้แหละเป็นโอกาสดีที่คนที่โยมแม่รัก โดยเฉพาะลูกๆ ที่เคยได้รับความสุขจากความเสียสละของโยมแม่ จะได้มาดูแลโยมแม่ เป็นการทำความดี เป็นการตอบแทนบุญคุณของโยมแม่ เปิดโอกาสให้เขานะ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำบุญกับโยมแม่ เท่าที่สังขารของโยมแม่จะอำนวยให้ อย่าไปรู้สึกรำคาญ อย่าไปรู้สึกหงุดหงิดกับสภาพเช่นนี้ ถือว่าตอนนี้เรากำลังเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้ทำบุญ ให้หลานๆ ได้มาเยี่ยมเยียน และได้รู้จัก ได้สัมผัสกับย่ายายของตัว อันนี้จะเป็นผลดีกับเขาเองด้วย

    ตอนนี้ถึงแม้ร่างกายจะไม่เป็นไปอย่างที่โยมแม่ต้องการ ก็ให้ขอให้อดทนหน่อยนะ อาตมาเชื่อว่าโยมแม่ทำได้เพราะโยมแม่เคยต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ มามากมาย แล้วก็สามารถผ่านไปได้ในที่สุด โยมแม่เคยเจอสิ่งที่ลำบากหนักหนากว่านี้มาแล้ว ตอนนี้โยมแม่เพียงแต่รอคอยให้ถึงเวลาที่สังขารจะแตกดับ ระหว่างนี้ก็อยู่กับเขาไปก่อน แต่อย่าอยู่ด้วยความรู้สึกฝืนทนนะ ระหว่างที่รอคอยสังขารแตกดับ ก็ทำใจให้เป็นกุศล นึกถึงความดีที่โยมแม่ได้ทำมาตลอดชีวิตด้วยความเสียสละ และชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของโยมแม่ที่ทำให้ลูกหลานเติบโตเป็นคนดี มีการงานที่มั่นคง

    สังขารร่างกายนี้ โยมแม่อยู่กับเขามานานแล้ว โยมแม่ได้ใช้สังขารร่างกายนี้ในการทำประโยชน์มากมาย ทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ทำประโยชน์ให้กับครอบครัว ให้กับลูกหลาน ใช้ร่างกายนี้ในการทำสิ่งดีงามให้คุ้มค่ากับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ใช้สังขารนี้ทำประโยชน์มากมายจนเรียกว่าคุ้มค่าแล้วล่ะ สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้

    ตอนนี้สังขารร่างกายกำลังจะหมดเรี่ยวหมดแรงแล้วนะ โยมแม่ก็ตอบแทนเขาหน่อย คือดูแลเขา ไม่ใช่ดูแลด้วยยา อันนั้นเป็นเรื่องของหมอของพยาบาล แต่ว่าให้โยมแม่ดูแลด้วยใจ คืออยู่กับเขาไป อย่าไปโกรธ อย่าไปโมโหที่เขาเป็นอย่างนี้ เพราะสังขารร่างกายย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา เราใช้เขามามากแล้วนะ ใช้เขาหาบน้ำรดผักตั้งแต่สมัยยังสาว ใช้เขาเย็บผ้าและทำมาหากินด้วยความเหนื่อยยาก ใช้เขาในการเลี้ยงดูลูกหลาน ตอนนี้ถึงเวลาที่เขาไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ปอดเอย หัวใจเอย ตับไตเอย ก็ชรามากแล้วนะ เขาทำงานเต็มที่แล้ว ตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะดูแลเขาด้วยใจ และอยู่กับเขาไปก่อน ไม่ต้องอยู่ด้วยความอดทนนะ ไม่ต้องอยู่ด้วยความฝืนทน อยู่กับเขาจนกว่าจะถึงเวลาที่เขาจะไป

    ตอนนี้ขอให้โยมแม่ทำใจเหมือนกับว่า กำลังรอเวลาเลิกงาน ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเลิกงาน เราก็ทำงานไปเรื่อยๆ ทำไปแบบสบายๆ ไม่ได้ทำด้วยหน้าดำคร่ำเคร่ง ถึงเวลาเลิกงานเมื่อไหร่ มีเสียงระฆังดัง “เป๊ง” เราก็วางงาน วางมือ แล้วก็เดินกลับบ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เวลา ก็อยู่กับสังขารร่างกายนี้ไปก่อน อยู่เป็นเพื่อนเขา ไม่ใช่อยู่ด้วยความฝืนทน แต่อยู่เพื่อทำหน้าที่ของเราเป็นครั้งสุดท้าย เพราะว่าร่างกายนี้เขารับใช้เรามาเยอะแล้ว ตอนนี้เราก็ตอบแทนเขาด้วยการอยู่เป็นเพื่อนเขา

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    อย่ารู้สึกรำคาญนะที่ร่างกายนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน แต่ก่อนเราสั่งให้ทำอะไรเขาก็ทำ เดี๋ยวนี้สั่งไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา แต่ถึงจะไม่ใช่ของเรา เราก็มีส่วนดูแลร่างกายนี้ได้บ้าง เหมือนกับเราสร้างบ้าน เราก็แต่งเติมบ้านตามความต้องการของเรา แต่บ้านนี้ไม่ว่าจะดีแค่ไหน แข็งแรงเพียงใด สักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมต้องผุพังไป เราจะไปสั่งว่าบ้านนี้อย่าพัง อย่าผุ เราสั่งไม่ได้ เราได้แต่ซ่อมแซมหรือสั่งให้คนอื่นมาซ่อมแซม แต่ถ้ามันเสื่อม มันจะพังจริงๆ เราก็หยุดมันไม่ได้นะ เพราะว่าบ้านไม่ใช่ของเรา ถึงเวลาที่บ้านจะผุพังไป เราก็ต้องยอมให้มันผุพัง เพราะว่าเราทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้มันยังไม่พังลงมาเราก็อยู่เฝ้าบ้านไปก่อน แต่ถ้าบ้านพังลงมาเมื่อไหร่ก็พร้อมจะออกจากบ้านหลังนี้ไป ไปหาบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่า

    บ้านหลังใหม่ดีแน่นอน เพราะว่าโยมแม่ได้ทำบุญ สร้างความดี สร้างกุศลมาเยอะ บ้านหลังใหม่นี้ที่รอไว้ ดีแน่นอน เป็นบ้านที่สะดวกสบายกว่าบ้านหลังนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งไปสนใจเลยนะ ขอให้มั่นใจและสบายใจว่าบ้านที่รอเราอยู่ข้างหน้านั้นดีแน่ แต่ระหว่างนี้โยมแม่ก็อยู่เป็นเพื่อนบ้านหลังนี้ไปก่อน เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องอยู่กับเขา ถ้าเขายังไม่ไป เราก็ยังไปไม่ได้ แต่เมื่อสังขารร่างกายนี้ถึงเวลาที่จะต้องไป เราก็พร้อมทิ้งบ้านหลังนี้ไป ไม่ต้องอาลัย แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะทิ้งนะ เพราะว่าเขายังทำงานได้อยู่ ก็ให้อยู่ไปด้วยความรู้สึกที่สบายใจ ไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญ ไม่โมโห ที่บ้านหลังนี้มันไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด

    สังขารร่างกายนี้ไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ก็อย่าโมโห อยู่กับเขาไปก่อน ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องอยู่กับเขา เพราะว่าเขารับใช้เรามาช้านานแล้ว ๙๖ ปีแล้วนะที่เขาได้อยู่กับโยมแม่ ทุกลมหายใจที่เข้าและออก ได้ช่วยให้โยมแม่ทำหน้าที่การงาน นับตั้งแต่ดูแลพ่อแม่ ดูแลสามี ดูแลลูก ต่อมาก็ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ทำงานการต่างๆ ที่สมควรทำในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ในฐานะที่เป็นคนไทย ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือส่วนรวม ก็อาศัยร่างกายนี้แหละเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ตอนนี้เราได้แต่ขอบคุณเขา และอยู่กับเขาไปก่อน อยู่เป็นเพื่อนเขา

    อันนี้ไม่ใช่เรื่องยากนะ เพราะว่าโยมแม่เคยทำสิ่งที่ยากกว่านี้มาแล้ว ตั้งแต่เล็กจนสาวจนกระทั่งมีครอบครัว จนกระทั่งแก่ชรา ก็เคยทำสิ่งที่ยากๆ กว่านี้มามากมายแล้ว และทำได้สำเร็จด้วย น่าพอใจ ตอนนี้เหลืองานอยู่ชิ้นเดียว คืออยู่กับสังขารร่างกายนี้ แต่ให้อยู่ด้วยใจที่ปล่อยวางนะ คือใจไม่ทุกข์ไปกับสังขารร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันจะเจ็บมันจะปวดมันจะอึดอัด ก็อยู่กับเขาด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์ สั่งอะไรไม่ได้ก็ช่างเขา ไม่เป็นไร ช่างมัน

    โยมแม่ได้ปล่อยวางกับหลายเรื่องมาแล้ว เจอคนใกล้ชิดเจอใครต่อใครที่ไม่ถูกใจเรา โยมแม่ก็ให้อภัย ไม่ถือสาหาความ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นเรื่องของคนรอบข้าง เรื่องของสิ่งนอกตัว ตอนนี้ร่างกายก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คือไม่ค่อยยอมเชื่อฟังเท่าไหร่ บางทีก็เอาความเจ็บความปวดมาให้ ก็อย่าไปโกรธนะ อย่าไปโมโห อย่าไปอึดอัด อย่าไปขัดเคืองใจ ให้อภัยเขา ไม่ถือสาหาความ ทำใจให้สบาย รักษาใจให้เป็นปกติ สังขารร่างกายจะเป็นอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป เราก็ได้แต่อยู่กับเขาไปก่อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายนี้ไม่ไหวแล้ว ได้เวลาที่จะไปแล้ว โยมแม่ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องยึด เมื่อถึงเวลาเขาไป เราก็ไปเหมือนกัน เหมือนกับบ้านที่กำลังจะพังลงมา พังลงมาเมื่อไหร่เราก็ไปแล้ว ไม่ห่วงแหนเอาไว้ ปล่อยมันพังลงมา ส่วนเราก็ไปหาบ้านใหม่ที่รออยู่

    ตอนนี้โยมแม่ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงแล้ว เรียกว่าสบายใจได้แล้ว ถ้ามีอะไรจะห่วงก็อย่าไปยึดติดถือมั่นมาก เพราะว่าได้ทำหน้าที่ทุกอย่างมาอย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ทำสิ่งที่ควรทำคือชื่นชมในความสำเร็จของเราที่ทำด้วยความเสียสละและปรารถนาดี อาจมีบางอย่างที่เราอยากจะให้ดีกว่านี้ แต่ได้เท่านี้ก็ควรพอใจแล้ว เพราะว่าคนที่จะมีอายุยืนแล้วได้เห็นความสำเร็จของลูก และความสำเร็จของหลาน มีไม่มาก แต่โยมแม่ได้เห็นมาจนครบถ้วนแล้ว จึงน่าจะภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา ระหว่างที่ยังอยู่กับสังขารร่างกายตอนนี้ อย่าไปมัวอึดอัดขัดเคืองใจกับร่างกายนี้ ให้น้อมใจหันมาชื่นชมความสำเร็จของเรา ที่ได้ทำจนน่าภาคภูมิใจ ขอให้โยมแม่มองไปรอบๆ ลูกหลานตอนนี้เขามองโยมแม่ด้วยความชื่นชม ด้วยความเคารพนับถือ

    ไม่ค่อยมีใครได้มีโอกาสอย่างนี้หรอก เพราะว่าไม่มีอายุยืนเหมือนโยมแม่ หรือถึงแม้มีอายุยืนแต่ก็อาจจะทุ่มเทเสียสละไม่เท่าโยมแม่ จนกระทั่งลูกหลานประสบความสำเร็จให้โยมแม่ภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้นขณะที่นอนอยู่อย่างนี้อย่าไปคิดว่าเป็นการทนทุกข์ทรมาน ให้ถือว่าแต่ละวันคือวันที่เราจะได้ชื่นชมลูกหลาน ชื่นชมความสำเร็จของเรา ให้แต่ละวันๆ เป็นวันที่เราได้ภาคภูมิใจในชีวิตของเรา ไม่ใช่วันที่จะทุกข์ทรมานแต่อย่างใด ขอให้วางใจแบบนี้ ทุกวันที่ผ่านเข้ามา เป็นวันที่เราจะเก็บเกี่ยวตักตวงความสุขจากการที่ได้เห็นความสำเร็จของลูกของหลาน และภาคภูมิใจในความดีในความเสียสละที่ทำมาตลอดทั้งชีวิต เป็นชีวิตที่คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์

    อย่าให้วันแต่ละวันเป็นวันแห่งความทุกข์ ขอให้อยู่กับร่างกายนี้ด้วยใจที่สบาย เขาจะทุกข์อย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่ทุกข์ไปกับเขาด้วย ให้ทุกข์แต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์ อยู่กับสังขารร่างกายนี้ด้วยใจที่ปล่อยวาง ไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่ขัดเคืองใจ อย่างที่อาตมาบอกไว้นะ ให้อยู่เหมือนกับว่ารอเวลาเลิกงาน ระหว่างที่รอ ก็ทำงานของเราไปเรื่อย ๆ เลิกงานเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะไปทันที เหมือนกับที่พระสารีบุตร พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า บอกว่า “ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานฉะนั้น” ระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลาเลิกงาน ก็ทำหน้าที่ไปเหมือนกับที่โยมแม่กำลังทำตอนนี้ อยู่กับสังขารร่างกายนี้ เป็นเพื่อนกับเขา พอถึงเวลาเลิกงานปุ๊บ วางมือ ไปได้เลย ไม่มีอะไรต้องอาลัย แล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ

    เอาล่ะนะ ที่อาตมาพูดมาคงเป็นแง่คิดให้กับโยมแม่ได้ อาตมาขอยุติเท่านี้นะ จากนี้ไปจะสวดมนต์ให้พรขอให้พระธรรมคุ้มครองจิตใจของโยมแม่ เพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข อิสระ ปล่อยวาง แม้ว่าสังขารร่างกายนี้จะเป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม ขอให้โยมแม่น้อมรับพร
    :- https://visalo.org/article/D_dhammakangTieng.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ปล่อยเมื่อไร สบายเมื่อนั้น
    By : รินใจ

    เธอครองชีวิตร่วมกับเขามานานกว่า ๑๐ ปี แล้ววันหนึ่งก็พบว่าเขาปันใจให้หญิงอื่น เธอจึงแยกทางจากเขา แต่เขาหาได้ไปจากจิตใจของเธอไม่ ทุกครั้งที่นึกถึงเขา เพลิงแค้นก็ลุกท่วมหัวใจ เธอแค้นที่ถูกเขาทรยศ แค้นที่เขาทำลายชีวิตที่ดี ๆ ของเธอ ยิ่งนึกก็ยิ่งรุ่มร้อน จนอยากตบ อยากทำร้าย อยากทำลาย “มัน”

    เธอหันหน้าเข้ากรรมฐาน แต่ความแค้นยังตามมารังควานเธอ แม้เรื่องจะจบไปนานแล้ว แต่เธอไม่ยอมจบด้วย ใจยังหวนกลับไปขุดเรื่องราวในอดีตให้มาทิ่มแทงเธอไม่หยุดหย่อน เสียงด่าดังก้องอยู่ในใจทั้ง ๆ ที่รอบตัวมีแต่ความเงียบสงบ

    แต่ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน มีเกิดก็มีดับ ตอนนั้นเธอกำลังเดินจงกรม มือประสานกันที่ท้อง เธอรู้สึกว่าเมื่อยเหลือเกินเพราะกุมมือในท่านั้นนานเป็นชั่วโมงแล้ว จึงปล่อยมือลง ทันทีที่ปล่อยความเมื่อยก็หายไป ความรู้สึกสบายกายสบายใจเกิดขึ้นตามมา ชั่วขณะนั้นเองเธอได้ประจักษ์แก่ใจว่า “แค่ปล่อย เราก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป” แล้วน้ำตาก็ไหลรินออกมา

    วินาทีนั้นเองที่เธอระลึกขึ้นได้ว่าสาเหตุที่เธอคับแค้นไม่เลิกราก็เพราะไปยึดติดกับเรื่องราวในอดีตอยู่ตลอดเวลา เป็นเพราะเธอไม่ยอมปล่อยมันไปนั่นเอง เธอจึงทุกข์แล้วทุกข์เล่า เมื่อคิดได้เช่นนี้เธอจึงปล่อยมันออกไปจากใจทันที

    เธอเล่าว่าในการปล่อยมือครั้งนั้น เธอได้ปล่อยความแค้นและเรื่องราวในอดีตระหว่างเธอกับเขาไปด้วย จิตใจบังเกิดความเบาสบายสงบเย็นขึ้นมาทันที

    มือที่กุมไว้นาน ๆ ย่อมเมื่อยฉันใด ใจที่ยึดไว้ไม่เลิกรา ย่อมเป็นทุกข์ฉันนั้น ไม่มีอะไรที่จริงยิ่งไปกว่านี้ แต่ความจริงง่าย ๆ อย่างนี้น้อยคนจะตระหนัก ทั้งนี้ก็เพราะเราคุ้นชินกับการยึดจนเป็นนิสัย อะไรก็ตามที่ติดเป็นนิสัยแล้ว เรามักจะทำไปโดยไม่รู้ตัว คนที่เคร่งเครียดจนเป็นนิสัย ก็เอาแต่เคร่งเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวด เกร็งมือเกร็งคอ ไปโดยไม่รู้ตัว แม้จะรู้สึกเมื่อยล้า ก็หารู้ไม่ว่าเป็นเพราะนิสัยดังกล่าวนั่นเอง แต่ทันทีที่รู้ตัวและผ่อนคลายลง เขาก็จะรู้สึกสบายทันที

    อะไรก็ตามถ้าเราไปยึดติดแบกถือแล้ว ล้วนทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นดูเหมือนเล็กน้อยไม่สลักสำคัญ แต่ก็ประมาทไม่ได้ สิวเพียงไม่กี่เม็ด ถ้าไปหมกมุ่นครุ่นกังวลกับมันทั้งวันทั้งคืน ก็สามารถทำให้เด็กสาวฆ่าตัวตายเพราะความอับอายได้ ดังเคยเป็นข่าวมาแล้ว

    มีเรื่องเล่าว่าชายผู้หนึ่งเข้าไปกราบทูลระบายความทุกข์กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์หนึ่ง เขาเอาแต่บ่นว่า “หนักครับ.....ช่วงนี้แย่มากเลยครับ” เมื่อสมเด็จ ฯ ถามว่าหนักเรื่องอะไร เขาก็ทูลเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าชีวิต สุดท้ายก็ทูลว่า “ตอนนี้ผมจวนจะแบกไม่ไหวแล้วครับ”

    สมเด็จ ฯ ฟังสักพัก ก็รับสั่งให้เขานั่งคุกเข่าและยื่นมือทั้งสองออกมาข้างหน้า แล้วพระองค์ก็หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งมาวางบนฝ่ามือทั้งสองของเขา แล้วรับสั่งว่า “นั่งอยู่นี่แหละ อย่าขยับหรือไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา จะเข้าไปข้างในสักประเดี๋ยว”
    เขานั่งอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน แต่สมเด็จ ฯ ก็ยังไม่เสด็จออกมาเสียที จนเขาเริ่มเมื่อยล้า กระดาษดูจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเหงื่อเริ่มออก
    ในที่สุดสมเด็จ ฯ ก็เสด็จเข้ามาประทับที่เดิม แล้วทรงถามชายผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร

    “หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว”

    “อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ ?” สมเด็จ ฯ รับสั่ง “ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี มันจะเป็นอย่างอื่นไปได้ยังไง”

    กระดาษแม้จะบางเบา แต่ถ้าไปยึดถือมันนาน ๆ ก็จะกลายเป็นของหนักจนสู้ไม่ไหว อารมณ์โกรธเกลียด ท้อแท้ กลัดกลุ้ม แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าไปแบกไว้ทั้งวันทั้งคืน ใจเรานั่นแหละที่จะแย่ ตรงกันข้ามกับหินก้อนใหญ่ ตราบใดที่ไม่ไปอุ้มไปแบก ก็ไม่มีวันหนัก

    เป็นเพราะไม่รู้ตัวใช่ไหมเราจึงเผลอไปแบกหรือยึดความทุกข์เอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ยิ่งแบกยิ่งยึดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็ยังไปแบกไปยึดอยู่นั่นเองเพราะทำจนเป็นนิสัยเสียแล้ว ความรู้ตัวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่หนทางแห่งความไม่ทุกข์ เพราะเมื่อรู้ตัวแจ่มชัดเราก็ประจักษ์แก่ใจว่าได้เผลอแบกยึดอะไรต่ออะไรไว้มากมาย ถึงตอนนั้นการปล่อยวางก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ฉะนั้นไม่ว่าทำอะไรอยู่ก็ตาม ควรหมั่นมองตนสำรวจจิตเพื่อให้รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ ความรู้ตัวนี้แหละจะช่วยปลดเปลื้องสิ่งหมักหมมที่ค้างคาในจิตใจจนทำให้ชีวิตเบาสบาย

    เทศกาลปีใหม่มาถึงแล้ว ใคร ๆ ก็อยากได้ของขวัญ แต่ถ้าอยากให้ชีวิตเบาสบาย ไม่มีอะไรดีกว่าการปล่อยวางสิ่งที่ทำความหนักอึ้งแก่จิตใจ อย่าแบกข้ามปีให้เหนื่อยใจอีกต่อไปเลย
    วันนี้สิ่งสำคัญจึงมิใช่คำถามว่าเราได้อะไรมาบ้าง ? แต่ได้แก่คำถามว่าเรา “ปล่อย”ไปมากแค่ไหนแล้ว?
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254810.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ปกครองโดยไม่ปกครอง
    พระไพศาล วิสาโล
    จาตุมสูตรเป็นสูตรเล็ก ๆ สูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก หากจะมีผู้เอ่ยถึงบ้างก็เนื่องจากสูตรนี้เป็นที่มาของคำสอนเรื่องภัย ๔ ประการของภิกษุบวชใหม่ ความจริงแล้วในพระสูตรนี้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในพุทธประวัติซึ่งน่าจะได้รับความสำคัญ หากแต่มักถูกมองข้ามไป

    พระสูตรนี้เล่าว่าคราวหนึ่งภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นหัวหน้าเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากภิกษุเหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงระหว่างสนทนากับภิกษุเจ้าถิ่น พระองค์จึงทรงขับไล่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นออกไปจากสำนัก ต่อมาเจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมาและท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้ากราบทูลพระองค์ ขอให้ทรงอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้น เพราะหลายรูปเป็นภิกษุใหม่ หากไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ก็จะแปรผันไป เหมือนพืชอ่อนขาดน้ำ หรือเหมือนลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ พระพุทธองค์ได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็เปลี่ยนพระทัย และอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้าโดยมีพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้พาไป

    เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นการสนทนาระหว่างพระพุทธองค์กับพระอัครสาวกทั้งสองซึ่งมีความสำคัญมากพระพุทธองค์เริ่มด้วยการตรัสถามพระสารีบุตรต่อหน้าภิกษุทั้ง ๕๐๐ว่า คิดอย่างไรที่พระองค์ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พระสารีบุตรกราบทูลว่า ในเมื่อ"พระผู้มีพระภาคทรงมีความขวนขวายน้อย เจริญธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย เจริญธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่เช่นกัน"

    เมื่อทรงสดับเช่นนั้น พระพุทธองค์ก็ตรัสห้ามว่า"เธอไม่ควรให้ความคิดเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีก" จากนั้นก็ตรัสถามพระมหาโมคคัลลานะด้วยคำถามเดียวกัน พระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงมีความขวนขวายน้อย ท่านและพระสารีบุตรจะช่วยกันบริหารภิกษุสงฆ์เอง พระพุทธองค์จึงตรัสรับรองว่า"ดีละ ดีละ ความจริง เรา สารีบุตรหรือโมคคัลลานะเท่านั้นควรบริหารภิกษุสงฆ์"

    บทสนทนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงท่าที ๒ แบบเมื่อเกิดปัญหาในหมู่สงฆ์ ท่าทีแรกคือการวางเฉย หลบหลีกปลีกตัวไปแสวงหาความสุขเฉพาะตน ส่วนท่าทีที่สองก็คือการเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา ควรกล่าวย้ำด้วยว่าท่าทีทีแตกต่างกันนี้เป็นท่าทีของพระอรหันต์ทั้งคู่ ดังนั้นจึงไม่ใช่ท่าทีที่ออกมาจากความเห็นแก่ตัวหรือกิเลสใด ๆหากเป็นเรื่องของมุมมอง(และอาจรวมถึง"วาสนา"ติดตัว)ที่แตกต่างกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นด้วยกับท่าทีแบบใด

    อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่การวางเฉยต่อปัญหานั้นมิใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ แต่กลับมีอิทธิพลอย่างมากในหมู่พระสงฆ์รุ่นหลัง ๆ จนบางครั้งแทบจะกลายเป็นลักษณะเด่นของคณะสงฆ์แบบเถรวาทไปเลย มีเหตุการณ์มากมายในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาที่สะท้อนท่าทีดังกล่าว ที่เด่นที่สุดแต่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในแง่นี้เท่าใดนักก็คือสมัยพระเจ้าอโศก ตามที่บันทึกในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทเอง (เช่น สมันปาสาทิกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา และสังคีติกถา อันเป็นตำราเรียนชั้นนักธรรม)เล่าว่าหลังจากที่พระเจ้าอโศกหันมาสมาทานพุทธศาสนาและให้การอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ ได้มีเหล่า"เดียรถีย์"หรือ"หมู่มิจฉาทิฏฐิ"มาปลอมปนอยู่ในหมู่สงฆ์เป็นอันมาก ข้อที่น่าคิดก็คือทั้ง ๆ ที่พระอรหันต์ในสมัยนั้นมีนับพัน ๆ รูป (จำเพาะที่มาทำสังคายนาหลังจากเหตุการณ์สงบแล้วก็มีถึงพันรูปซึ่งล้วน"แตกฉานในไตรวิชชาและพระปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔") แต่เหตุใดจึงปล่อยให้เดียรถีย์พากันมาบวชเป็นจำนวนมาก (สังคีติกถาระบุว่าเดียรถีย์ที่ถูกพระเจ้าอโศกจับสึกมีถึง ๑ หมื่นคน) พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งซึ่งตัดสินใจหลีกไปบำเพ็ญสมาบัติในเขาถึง ๗ ปีหลังจากพบว่ามีเหล่าทุศีลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังฆมณฑล สังคีติกถาให้เหตุผลว่าพระภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย จึงมิอาจห้ามและจัดการกับหมู่เดียรถีย์ซึ่งมีพวกมากได้ทำได้อย่างมากแค่ไม่ร่วมสังฆกรรม แต่หนังสือเล่มเดียวก็ระบุว่าตอนที่พระโมคคีบุตรติสสะเถระเลือกสรรพระสงฆ์เพื่อมาทำสังคายนาภายหลังนั้น มีพระภิกษุถึง "๖๐ แสน" และอันที่จริงเหล่าเดียรถีย์ก็คงมิได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างพรวดพราด คาดว่าน่าจะใช้เวลานับสิบปีกว่าจะมีจำนวนเป็นหมื่น คำถามก็คือช่วงปีแรก ๆ ที่เดียรถีย์เริ่มทยอยเข้ามาและยังมีจำนวนน้อยอยู่นั้น เหตุใดจึงไม่มีการป้องกันหรือแก้ไขใด ๆ จะอ้างว่าคณะสงฆ์สมัยนั้นอ่อนแอหรือเสื่อมโทรมก็คงไม่ได้ เพราะมีพระภิกษุที่บรรลุอรหัตผลนับพันรูป แสดงว่าคณะสงฆ์เวลานั้นกำลังเจริญและอยู่ในสภาพที่ปกติสุขพอสมควร
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,537
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ )
    เห็นได้ชัดว่าพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระภิกษุจำนวนมากในเวลานั้นใช้ท่าทีอย่างเดียวกับพระสารีบุตร ดังกล่าวข้างต้น ต่อเมื่อพระเจ้าอโศกกำราบเดีรยถีย์ ทำให้คณะสงฆ์บริสุทธิ์และสมานสามัคคีได้แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระจึงเข้ามาเป็นผู้นำในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สาม เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างแบบแผนประเพณีที่สำคัญให้แก่พุทธศาสนาแบบเถรวาทหลายประการ อาทิ การแบ่งแยกบทบาทระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระสงฆ์อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ฝ่ายแรกมีหน้าที่ปกป้องความบริสุทธิ์ของคณะสงฆ์และดูแลให้เกิดสังฆสามัคคีส่วนฝ่ายหลังมีหน้าที่สืบทอดและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นต้น แต่เป็นไปได้ไหมว่ามรดกสำคัญอีกประการหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คือ การตอกย้ำให้พระสงฆ์รุ่นหลังมีท่าทีวางเฉยเมื่อเกิดปัญหาในคณะสงฆ์ การที่คัมภีร์สำคัญในพุทธศาสนา(รวมทั้งตำราเรียนนักธรรม)ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวโดยมีนัยเห็นด้วยกับการปลีกตัวหลีกเร้นของพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ย่อมทำให้ท่าทีดังกล่าวเป็นที่ยอมรับหรือกลายเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ในเวลาต่อมา

    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งควรกล่าวด้วยว่าในสมัยพระเจ้าอโศกนั้นเอง มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งชี้ว่าการปลีกตัวไปในขณะที่คณะสงฆ์มีกิจอันพึงกระทำอยู่นั้น หาใช่พฤติกรรมที่พึงยอมรับได้ไม่ แม้ผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ดังมีเรื่องเล่าในคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา ว่าขณะที่คณะสงฆ์กำลังช่วยกันสนับสนุนพระเจ้าอโศกในการทำนุบำรุงพระศาสนานั้น พระอรหันต์ชื่ออุปคุตต์ ปลีกตัวไปเสวยสุขจากฌานสมาบัติโดยไม่ทราบเรื่อง ที่ประชุมสงฆ์จึงส่งพระภิกษุไปตามท่านมาแล้วตัดสินลงโทษท่านในข้อที่ท่านไปหาความสบายแต่ผู้เดียว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยแพร่หลายเมื่อเทียบกับเรื่องราวของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และดังนั้นจึงไม่สู้มีอิทธิพลต่อพระรุ่นหลังเท่าใดนัก

    ในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์เถรวาท เราจะพบท่าที ๒ แบบผลัดกันมีบทบาทสลับกันไป แต่ดูเหมือนว่าท่าทีวางเฉยต่อปัญหาจะมีบทบาทเด่นชัดกว่า ดังจะเห็นว่าเมื่อเกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์ มีพระประพฤตินอกธรรมวินัยกันมาก ผู้ที่ริเริ่มแก้ปัญหามักมิใช่สังฆราชหรือพระชั้นผู้ใหญ่ หากได้แก่พระมหากษัตริย์ ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยเองมีเหตุการณ์หลายครั้งทีเดียวที่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ปล่อยให้มีอลัชชีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยไม่ใส่ใจที่จะจัดการ อาทิในสมัยรัชกาลที่ ๑ อลัชชีเกิดขึ้นจนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถึงกับตำหนิพระราชาคณะทั้งหลายว่า มิได้มีความกตัญญูต่อพระศาสนาเพราะปล่อยให้"โจรปล้นพระศาสนาชุกชุม" สมควรได้รับโทษทัณฑ์ หากแต่ทรงให้งดโทษไว้ก่อน แต่ดูเหมือนว่าการวางเฉยเป็นนิสัยที่แก้ยาก เพราะเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็อลัชชีก็ดาษดื่นอีกอีก จนต้องมีการสึกพระในกรุงเทพ ฯ ถึง ๕๐๐ รูป และผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้หาใช่พระราชาคณะไม่ หากได้แก่ฝ่ายอาณาจักร

    กล่าวในทางปฏิบัติสำหรับเมืองไทยแล้ว สงฆ์แทบจะไม่เคยปกครองสงฆ์กันเลย มีแต่ฆราวาสปกครองสงฆ์มาโดยตลอดจนเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้วนี้เอง ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ด้วยแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสังฆราชเองเลยเพราะไม่ทรงแต่งตั้งพระรูปใดเป็นสังฆราชนานนับสิบปี จะเป็นเพราะสงฆ์ไม่ค่อยสนใจที่จะปกครองสงฆ์กันเอง จึงทำให้พระมหากษัตริย์เข้ามาดูแลแทน หรือในทางตรงกันข้าม เป็นเพราะว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลปกป้องคณะสงฆ์ สงฆ์จึงเลยไม่เอาธุระในเรื่องนี้ จะไม่ขอวินิจฉัยในที่นี้ แต่ความจริงที่ดำรงมาถึงปัจจุบันก็คือ การวางเฉยต่อปัญหาคณะสงฆ์ยังคงเป็นท่าทีที่มีอิทธิพลมากในหมู่พระสงฆ์ไทย แม้จะมีการปรับปรุงแบบแผนการปกครองสงฆ์เพื่อให้สงฆ์ปกครองกันเองมาแต่รัชกาลที่ ๖ แต่ทุกวันนี้ก็ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีการปกครองกันเลยไม่ว่าระดับบนสุดจนถึงระดับวัด ปัญหาอลัชชีเกลื่อนเมือง พระเณรพากันประพฤติตัวตามใจชอบ การศึกษาของสงฆ์ตกต่ำ รวมทั้งการปล่อยปัญหาต่าง ๆ ให้ยืดเยื้อเรื้อรัง (เว้นเสียแต่มีใครมากดดันถึงจะขยับ) เหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าทุกวันนี้ยังมีการปกครองสงฆ์อยู่หรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงก็คือท่าทีวางเฉยต่อปัญหานี้กำลังระบาดในหมู่ฆราวาสหนักขึ้นทุกที เวลามีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นกับพระศาสนา จะพากันเฉยเมยโดยถือว่าธุระไม่ใช่ หาไม่ก็เอาแต่เก็บตัวปฏิบัติธรรม ถือว่าใครทำกรรมใดไว้ก็รับกรรมไปเองแล้วกัน

    ขณะนี้มหาเถรสมาคมกำลังมีดำริที่จะปรับเปลี่ยนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของงานด้านพระพุทธศาสนา ควรถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองสงฆ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกันด้วย (แทนที่จะคิดเพียงแค่ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ระคายเคืององค์สมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น) แต่จะดียิ่งขึ้นหากเปิดโอกาสให้พระภิกษุและชาวพุทธทั่วไปได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายจะต้องช่วยกันทำให้สำเร็จก็คือการปรับปรุงให้มีการปกครองสงฆ์กันอย่างแท้จริงเสียที และที่จะลืมไม่ได้ก็คือการปลุกตนให้มีสำนึกต่อส่วนรวม ไม่ทอดธุระหรือปลีกตัวเป็นผู้"ขวนขวายน้อย" เพราะนั่นหาใช่พฤติกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญไม่
    ;- https://visalo.org/article/matichon254407.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...